เขื่อนสิริกิติ์ อุตรดิตถ์ Kick off โคกหนองนาป่ามะม่วงหิมพานต์ ขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2563ที่ผ่านมา ณ เขื่อนดินช่องเขาขาด อำเภอท่าปลา จังหวัดอุตรดิตถ์ นายชาญณรงค์ จันทมงคล ผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์ (อขส.) นายจักรพรรณ สุวรรณภักดี นายอำเภอท่าปลา ร่วมเป็นประธาน Kick off โครงการโคกหนองนาป่ามะม่วงหิมพานต์ พื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามหลักทฤษฏีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 สร้างงาน สร้างกิจกรรม ให้เกิดการบูรณาการร่วมกันในพื้นที่อำเภอท่าปลา โดยมีส่วนราชการอำเภอท่าปลา อาทิ พัฒนาชุมชนอำเภอท่าปลา กศน.ท่าปลา ภาคีเครือข่ายพัฒนาชุมชน ทีมประวัติศาสตร์ท่าปลาโรงเรียนท่าปลาอนุสรณ์ 1 และประชาชน ร่วมในพิธี
นายชาญณรงค์ จันทมงคล (อขส.) กล่าวแสดงเจตนารมณ์ในพิธีเปิดโครงการฯ ว่า ตามนโยบาย กฟผ. มีความต้องการจะให้มีการดำเนินการตามศาสตร์พระราชา จึงอยากให้โคกหนองนาป่ามะม่วงหิมพานต์ เป็นเอกลักษณ์ของ กฟผ. โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม หรือผู้ที่สนใจเข้ามาใช้สถานที่ในการศึกษาหาความรู้ และได้ประโยชน์สูงสุดจากการเชื่อมโยงโคกหนองนา โมเดลไปสู่ชุมชน เนื่องจากในพื้นที่อำเภอท่าปลา ได้มีการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน รวมถึงงานวิจัยด้านการท่องเที่ยว โดยมีสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทยไทย (วว.) เข้าร่วมเป็นเครือข่าย ผลจากการวิจัยทั้งหมดนี้จะนำไปสู่การสร้างนวัตกรรม สร้าง รายได้ให้กับคนในพื้นที่อำเภอท่าปลาต่อไป
นายจักรพรรณ สุวรรณภักดี นายอำเภอท่าปลา กล่าวขอบคุณเขื่อนสิริกิติ์ ที่มีแนวคิดในการพัฒนาพื้นที่เขื่อนดินช่องเขาขาดให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาล ขอขอบคุณแทนพี่น้องชาวอำเภอท่าปลา ขอให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้และขอเป็นกำลังใจให้ทุกภาคส่วนร่วมแรงร่วมใจเพื่อให้งานนี้สำเร็จโดยเร็ว และอำเภอท่าปลามีเยาวชนที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกโคกหนองนาโมเดล จะได้ร่วมกันประสานงานและต่อยอดโครงการนี้ต่อไป
นายพงษ์เทพ จันทร์ปุ่ม ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขื่อนสิริกิติ์-2. กล่าวรายงานว่า จากเดิมเขื่อนดินช่องเขาขาด เป็นศูนย์เรียนรู้ชีววิถี และเกษตรทฤษฎีใหม่อยู่แล้ว และเล็งเห็นว่าสถานที่แห่งนี้มีความพร้อมแล้วที่จะเป็นศูนย์ต้นแบบ เรียนรู้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น อีกทั้งจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของอำเภอท่าปลา ซึ่งจะออกแบบพื้นที่ต้นแบบแห่งนี้เป็นรูปหัวใจ มีความหมายว่าเป็นหัวใจของอำเภอท่าปลา ซึ่งในอนาคตพื้นที่กว่า 2,000 ไร่จะเป็นทั้งศูนย์ต้นแบบโคกหนองนาป่ามะม่วงหิมพานต์ และเป็นตลาดน้ำ เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของอำเภอท่าปลา มีกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ ปั่นจักรยาน มีจุดกางเต้นท์ และที่พัก ซึ่งชุมชนอำเภอท่าปลาจะได้รับประโยชน์ไปด้วย เป็นสิ่งหนึ่งที่ กฟผ. มุ่งหวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชุมชนอำเภอท่าปลา สำหรับในช่วงบ่าย วันที่ 3 ธันวาคม 2563 มีพิธี “ขึ้นท้าวทั้ง 4” ตามประเพณีที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมี นายวัชรพงษ์ ขุนล่ำ หัวหน้ากองบำรุงรักษาโยธาเขื่อนสิริกิติ์ เป็นประธานในพิธี ทั้งนี้เพื่อขอขมาแม่ธรณี บอกกล่าวท้าวที่ดูแล และปกปักทิศทั้งสี่ขอให้การดำเนินโครงการประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ในช่วงเช้า วันที่ 4 ธันวาคม 2563 นายพงษ์เทพ จันทร์ปุ่ม ช.อขส-2 เป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ถวายภัตตาหารพระสงฆ์ 5 รูป เเละถวายปัจจัยแด่พระสงฆ์ ทั้งนี้เพื่อความเป็นสิริมงคล
ณัฐวัฒน์ ราชประสิทธิ์ ภาพ/ข่าวอุตรดิตถ์