อนุทินติดตาม รพ.สนาม พร้อมชวนกินอาหารทะเลปรุงสุก กินได้ปลอดภัย ไร้โควิด 19

อนุทินติดตาม รพ.สนาม พร้อมชวนกินอาหารทะเลปรุงสุก กินได้ปลอดภัย ไร้โควิด 19

อนุทินติดตาม รพ.สนาม พร้อมชวนกินอาหารทะเลปรุงสุก กินได้ปลอดภัย ไร้โควิด 19
เมื่อเวลา 11.30 น. ของวันที่ 27 ธันวาคม 2563 นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดี กรมอนามัย นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสนศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร และผู้บริหารกรมอนามัย ได้เดินทางมาที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร เพื่อร่วมประชุมรับฟังความคืบหน้าของการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่งขณะนี้พบว่าผู้ป่วย 8 รายแรกนั้น มีอาการดีขึ้นจนใกล้หายแล้ว เช่น คุณยายวัย 95 ปี แม่ของผู้ป่วยรายแรก ที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงได้รับเชื้อโควิด-19 ด้วย และได้มารักษาตัวที่โรงพยาบาลสมุทรสาคร ตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งอาการล่าสุดไม่น่าเป็นห่วงใกล้หายกลับบ้านได้แล้ว แต่ทางแพทย์ต้องรอเวลาจนครบ 14 วัน จึงมั่นใจว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง
ทั้งนี้หลังออกจากห้องประชุมที่โรงพยาบาลสมุทรสาครแล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะยังได้ร่วมตรวจเยี่ยมและให้กำลังใจผู้ประกอบการร้านอาหารทะเล ณ ร้านท่าเรือภัตตาคาร มหาชัย (รับลม) จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับโชว์ฝีมือการทำข้าวผัดกุ้ง แล้วตักให้ทุกคนได้ร่วมรับประทาน ยืนยันความปลอดภัยทั้งกุ้งที่มาจากจังหวัดสมุทรสาคร และอาหารทะเลที่ปลอดภัยจากเชื้อโควิด 19
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 รอบใหม่จากตลาดกลางกุ้ง ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร และได้ขยายวงกว้างไปยังพื้นที่อื่น ๆ สร้างความไม่มั่นใจด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยในการบริโภคอาหารทะเลในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะอาหารทะเลประเภท กุ้งทำให้ผู้ประกอบการรวมถึงพ่อค้าแม่ค้าที่ขายอาหารภายในตลาดสดและร้านอาหารในพื้นที่จังหวัดอื่น ๆ ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น เกี่ยวกับประเด็นนี้กระทรวงสาธารณสุขขอย้ำความมั่นใจให้กับประชาชนว่า อาหารทะเลในช่วงนี้สามารถบริโภคได้อย่างปลอดภัยไร้โควิด 19 แต่ขอเน้นให้ปรุงสุกทุกครั้ง พร้อมขอความความร่วมมือให้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ได้เลือกซื้อวัตถุดิบประเภทอาหารทะเลจากตลาดสด น่าซื้อ ของกรมอนามัยหรือแหล่งจำหน่ายสินค้าที่เชื่อถือได้หรือได้รับการรับรองจากหน่วยงานราชการเพื่อสร้างความมั่นใจด้านความสะอาด ปลอดภัยต่อวัตถุดิบที่จะมาปรุงประกอบอาหารเพื่อ จำหน่าย สำหรับผู้ประกอบการตลาดค้าส่งอาหารทะเลนั้น ต้องเฝ้าระวังและคุมเข้มมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัย ของอาหารทะเลอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการควบคุมและตรวจสอบอาหารทะเลก่อนถึงมือผู้บริโภค หากเป็นไปได้ควรตรวจคัดกรองลูกเรือประมงและคนประจำเรือที่ทำหน้าที่ขนส่งอาหารทะเล และกระบวนการขนส่งต้องได้มาตรฐาน สะอาด ปลอดภัย อาหารทะเลต้องมีคุณภาพ มีการแช่แข็งด้วยความเย็นและผ่านการผลิตที่ได้มาตรฐานด้วย
ทางด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า กระบวนการปรุงประกอบอาหาร เป็นสิ่งสำคัญ พ่อค้าแม่ค้า หรือผู้บริโภคที่ปรุงอาหารด้วยตนเองจึงต้องปฏิบัติตามหลักสุขาภิบาล โดยผู้สัมผัสอาหารทุกคนต้องล้างมือด้วยสบู่และน้ำหรือน้ำยาล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะก่อนเตรียมปรุงประกอบและจำหน่ายอาหารทุกครั้ง ส่วนอาหารทะเลประเภทกุ้ง ควรผ่านการปรุงสุกต้มเดือดด้วยความร้อนหรือไม่ต่ำกว่า 70 องศาเซลเซียส นาน 5 นาทีขึ้นไป และหากเป็นอาหารประเภทปิ้งหรือย่างก็ขอให้สุกทั่วทั้งชิ้นแทนการกินแบบกึ่งสุกกึ่งดิบ สำหรับอาหารที่ปรุงสำเร็จหรืออาหารที่พร้อมบริโภคห้ามใช้มือหยิบจับหรือสัมผัสอาหารโดยตรงต้องใช้อุปกรณ์ที่สะอาดปลอดภัย ในการหยิบจับอาหาร เช่น ทัพพี ที่คีบ เพื่อลดการปนเปื้อนเชื้อโรค ทั้งนี้กุ้งนับเป็นอาหารทะเลที่ให้คุณค่าทางโภชนาการที่จำเป็นต่อร่างกาย หากเป็นเนื้อกุ้งกุลาดำ 100 กรัม ให้พลังงาน 92 กิโลแคลอรี โปรตีน 20.1 กรัม ไขมัน 1.3 กรัม ฟอสฟอรัส 140 มิลลิกรัม ไนอะซิน 3.5 มิลลิกรัม และมีคอเลสเตอรอล 175 มิลลิกรัม ดังนั้น แม้ว่ากุ้งจะให้โปรตีนสูงแต่ก็มีปริมาณคอเลสเตอรอลไม่น้อย จึงไม่ควรกินมากเกินไป และที่สำคัญไม่แนะนำให้กินดิบเพราะตัวกุ้งอาจมีทั้งพยาธิและเชื้อแบคทีเรียทำให้ท้องเสียได้
จากนั้นทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ยังได้เดินทางไปดูความคืบหน้าของการจัดตั้งศูนย์ห่วงใยคนสาคร ซึ่งจัดตั้งมาเพื่อดูแลผู้ป่วยที่มีผลบวกแต่ไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่มากนัก ณ สนามกีฬากลางจังหวัดสมุทรสาคร พบว่าขณะนี้มีการดำเนินการรุดหน้าเป็นอย่างมาก โดยภายในได้นำเต็นท์สนามมาลง มีการนำรั้วลวดหนามมากั้นไว้ และมีการจัดเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจเฝ้ารักษาความสงบเรียบร้อยตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่ง“ศูนย์ห่วงใยคนสาคร” เป็นสถานที่ป้องกันและควบคุมโรค ได้จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือ เป็นสถานที่ดูแลผู้ติดเชื้อที่มีอาการดีขึ้นแล้ว , เป็นสถานที่ดูแลผู้ติดเชื้ออาการไม่หนัก แต่เพื่อป้องกันความเสี่ยง ไม่ให้ปะปนกับคนภายนอก, เพื่อประโยชน์อย่างมากในการคัดกรองโรค ,เพื่อลดความเสี่ยงสัมผัสเชื้อโควิด 19 ในชุมชน ทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายไปในชุมชน และ เพื่อการควบคุมโรคได้อย่างเป็นระบบ
สุดท้าย รมว.สาธารณสุขได้เดินทางต่อไปที่โรงพยาบาลสนาม ตลาดกลางกุ้งสมุทรสาคร ที่อยู่ภายในพื้นที่ปิด ให้บริการเฉพาะผู้ที่อยู่ด้านในตลาดกลางกุ้งเท่านั้น มีลักษณะเป็น Cohort ward ให้การดูแลรักษาผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย และให้การรักษาเบื้องต้นโรคทั่วไป วางแผนครอบครัว ฉีดยาคุมกำเนิด และสุขภาพจิต ตามหลักมนุษยธรรม ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล มีทีมแพทย์และพยาบาลประจำ สามารถให้บริการได้วันละประมาณ 100 คน มีเตียงรองรับผู้ป่วยใน 30 – 40 เตียง แต่สามารถรองรับได้สูงสุดถึง 100 เตียง และถ้าหากมีอาการรุนแรงจะส่งต่อไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยโรงพยาบาลสนาม ตลาดกลางกุ้งแห่งนี้มีสถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เข้ามาจัดการระบบวิศวกรรม ระบบกรองอากาศ และการกำจัดสิ่งปฏิกูล ตามมาตรฐานโรงพยาบาลสนาม แบ่งโซนบริการเป็น 3 โซน ได้แก่ โซนสีแดงคือบริเวณหอพัก โซนสีส้ม คือจุดรอรักษาและคัดกรอง และโซนสีเขียวคือจุดพยาบาลปฏิบัติการ
และที่นับเป็นข่าวดีสำหรับคนสมุทรสาครเป็นอย่างมากคือ หลังจากที่มีการกักตัวผู้ที่ติดเชื้อโควิด 19 ในตลาดกลางกุ้งมาตั้งแต่วันที่ 19 ธันวาคมนั้น ขณะนี้ได้มีการตรวจซ้ำผู้ที่เคยติดเชื้อ แล้วผลปรากฏว่า ไม่พบเชื้อโควิดในร่างกายอีกแล้ว ทางอธิบดีกรมควบคุมโรค จึงได้มอบหนังสือ “รับรองการกักตัว” จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร เพื่อยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวเป็นผู้ที่ได้ผ่านการตรวจคัดกรองจนมีผลยืนยันไม่พบเชื้อโควิด ซึ่งก็สร้างความดีใจให้แก่แรงงานต่างด้าวกลุ่มนี้มาก และยังสร้างความปลาบปลื้มใจให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุกด้านอีกด้วย


ชูชาตแดพยนต์ทีมข่าวสมุทรสาคร

ข่าวประชาสัมพันธ์ ข่าวทั่วไป สังคม