เชียงราย สืบชะตา “ป่าบงน้ำล้อม” นักอุรักษ์เตรียมเสนอเป็น “แรมซ่าไซต์” อัตลักษณ์พื้นที่ชุ่มน้ำริมน้ำอิง

เชียงราย สืบชะตา “ป่าบงน้ำล้อม” นักอุรักษ์เตรียมเสนอเป็น “แรมซ่าไซต์” อัตลักษณ์พื้นที่ชุ่มน้ำริมน้ำอิง

เชียงราย สืบชะตา “ป่าบงน้ำล้อม” นักอุรักษ์เตรียมเสนอเป็น “แรมซ่าไซต์” อัตลักษณ์พื้นที่ชุ่มน้ำริมน้ำอิง

ที่ป่าชุ่มน้ำบ้านป่าบงน้ำล้อม ชาวบ้านหมู่ 1 ต.ยางฮอม อ.ขุนตาล จ.เชียงราย ได้จัดกิจกรรม “สืบชะตาป่าชุ่มน้ำ แม่น้ำอิง” โดยชาวบ้านหลายหมู่บ้านในตำบลยางฮอมและชาวบ้านในพื้นที่ป่าชุ่มน้ำอิง กว่า 200 คนเข้าร่วม โดยนายอิทธิมนต์ สุขศรี ผู้ใหญ่บ้านป่าบง กล่าวว่าชาวบ้านป่าบงอพยพมาจากเมืองน่านตั้งแต่สมัยอยุธยานำโดยแสนหลวงอินทรเรืองฤทธิพร้อมชาวบ้าน 16 ครอบครัว ได้พบเห็นที่รบลุ่มเขาดอยยาวมีความเหมาะสมกับการสร้างชุมชนริมที่ราบแม่น้ำอิง โดยในฤดูน้ำหลากน้ำมักท่วมหมู่บ้าน

นายทรรศักดิ์ เมืองแก่น ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านป่าบง กล่าวว่า ตนเกิดมาก็เจอป่าผืนนี้แล้ว ซึ่งปัจจุบันมี 229 ไร่ โดยเป็นป่าชุ่มน้ำที่เกิดขึ้นเองธรรมชาติและชุมชนช่วยกันรักษาเอาไว้ ส่วนมากเป็นต้นข่อย ในฤดูน้ำหลากน้ำในแม่น้ำอิงจะเอ่อท่วมแต่ต้นไม้แต่ไม่ตายและกลายเป็นพื้นที่หากินและวางไข่ของปลาราวเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน แต่น้ำไม่หลากท่วมมาแล้ว 3 ปี อย่างไรก็ตามชาวบ้านยังได้ใช้ประโยชน์จากป่าผืนนี้ร่วมกัน ทั้งหาผัก หาปลา เอาไม้ตายมาทำฟืน โดยมีกติการ่วมกัน เช่น ใครล่าสัตว์ถูกปรับ 1 หมื่นบาท เพราะที่นี่ยังมีสัตว์ป่าหลายชนิด เช่น ไก่ป่า นก อีเห็น

“เมื่อสมัยผมเด็กๆป่าชุ่มน้ำแห่งนี้ผืนใหญ่กว่านี้มาก แต่มีคนอยากแบ่งไปเป็นที่ทำกิน จนกระทั่วราวปี 2517 คนเฒ่าคนแก่จึงห้ามโค่นและแผ้วถางป่าเพราะต้องการรักษาเอาไว้ให้ลูกหลาน เราจึงร่างกติกาการใช้ร่วมกัน เราต้องการให้ป่าผืนนี้ได้ขึ้นทะเบียนป่าชุ่มน้ำเพื่อที่จะได้อนุรักษ์สืบต่อไปและไม่ให้ใครมาบุกรุก โดยปัจจุบัน เด็กๆลูกๆหลานๆ ได้มาหาปลา เล่นน้ำ นักเรียนมาสำรวจป่าศึกษาธรรมชาติ สมัยก่อนผมก็เลี้ยงควายในป่านี้ สนุกมาก เล่นน้ำกับควายตั้งแต่เช้าจนเย็น สมัยนั้นทุกบ้านต่างมีควายไว้ไถนา แต่ตอนหลังพอมีเครื่องจักรกล ควายเริ่มหายไปจนเดี๋ยวนี้ไม่มีบ้านไหนเลี้ยงควายอีกแล้ว” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าวว่า

“อยากให้มีการสำรวจป่าผืนนี้และส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเพราะประชาชนจะได้ร่วมกันเรียนรู้เรื่องสัตว์ป่า สัตว์น้ำและกล้วยไม้ ที่ผ่านมาเคยมีภัยถูกคุกคามเพราะมีความพยายามขยายเขตนาเข้ามาในป่า แต่ตอนนี้ผืนป่ากลายเป็นพื้นที่สาธารณะแล้วภัยดังกล่าวจึงหมดไป” ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านป่าบง กล่าว

ในช่วงท้ายของกิจกรรมชาวบ้านได้ร่วมกันประกาศ “ปฏิญญาป่าฮิมอิง” ว่า 1.เราจะร่วมกันรักษา ฟื้นฟูและใช้ประโยชน์ป่าฮิมอิง รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำอื่นๆ เช่น หนอก บวก อย่างยั่งยืน 2.เราจะเคารพสิทธิในการจัดการทรัพยากรของชุมชนที่ตั้งอยู่บนภูมิปัญญาท้องถิ่น 3.เราจะร่วมกันปกป้องพื้นที่ป่าอัตลักษณ์พิเศษสู้นโยบายการคุ้มครองพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ(แรมซ่าไซด์) 4.เราจะประสานงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อการจัดการพื้นที่ชุ่มน้ำอย่างบูรณาการ สอดคล้องต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

ด้านนายสมเกียรติ เขื่อนเชียงสา นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าวว่าป่าผืนนี้เป็นส่วนหนึ่งใน 26 แปลงของป่าชุ่มน้ำอิงที่มีคุณสมบัติเป็นป่าอัตลักษณ์พิเศษซึ่งได้มีการประเมินโดยคณะวิชาการของกรมส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็น “แรมซ่าไซด์” หรือพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ ซึ่งเราได้ทำเรื่องผ่านจังหวัดไปแล้ว ขั้นต่อไปรอให้ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการต่อไป

“ป่าบงน้ำล้อมเป็นระบบนิเวศน์เชื่อมโยงแม่น้ำโขง ในช่วงฤดูฝนเมื่อแม่น้ำโขงล้นเอ่อเข้ามาในแม่น้ำสาขาเช่น แม่น้ำอิง ทำให้ป่าผืนนี้เป็นพื้นที่รับน้ำ กลายเป็นระบบนิเวศพิเศษที่มีความหลากหลายของพันธุ์พืชไม่ต่ำกว่า 60 ชนิด พืชบางชนิดมีเฉพาะในป่าริมแม่น้ำอิง เช่น ต้นชุมแสง ที่สามารถอยู่ในช่วงน้ำท่วม 3 เดือนโดยไม่ตาย” นายกสมาคมแม่น้ำเพื่อชีวิต กล่าว

ณัฐวัตร ลาพิงค์/เชียงราย

วัฒนธรรม