“ทวี สอดส่อง” เลขาธิการพรรคประชาชาติ หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ชี้รากเหง้าของปัญหาคือรัฐประหาร ควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และตรวจสอบงบลับกองทัพ

“ทวี สอดส่อง” เลขาธิการพรรคประชาชาติ หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ชี้รากเหง้าของปัญหาคือรัฐประหาร ควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และตรวจสอบงบลับกองทัพ

“ทวี สอดส่อง” เลขาธิการพรรคประชาชาติ หนุนแก้รัฐธรรมนูญ ชี้รากเหง้าของปัญหาคือรัฐประหาร ควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ และตรวจสอบงบลับกองทัพ

การประชุมร่วมรัฐสภา โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาร่วมประชุม เมื่อวันพุธที่ 17 พฤศจิกายน 2564 ในวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ …) พ.ศ. …ซึ่งพันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ได้อภิปรายสนับสนุนรับหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน โดยชี้ว่ารากเหง้าของปัญหามาจากการรัฐประหาร และเห็นควรตรวจสอบงบลับของกองทัพด้วย

พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง อภิปรายว่า “ขอบคุณตัวแทนภาคประชาชนที่ได้นำเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งเห็นว่าสามารถที่จะปะผุรัฐธรรมนูญปี 2560 ได้ในระดับเบื้องต้น เพื่อทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่เกิดมาจากการรัฐประหารโดยผู้ฉีกรัฐธรรมนูญเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ จึงทำให้รัฐธรรมนูญทั้งหมดด้อยเรื่องสิทธิเสรีภาพ มุ่มสืบทอดอำนาจให้นักรัฐประหาร เราจำเป็นที่จะต้องมีรัฐธรรมนูญฉบับที่จัดทำโดยประชาชน เพราะเชื่อว่าในวันข้างหน้าจะสามารถที่จะทำให้เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชนอย่างแท้จริง”

“การมีรัฐธรรมนูญเพื่อให้สังคมเป็นประชาธิปไตยนั้น ที่ผ่านมาเรามีรัฐธรรมนูญมา 20 ฉบับแล้ว แต่สังคมยังไม่เป็นประชาธิปไตย เราได้เพียงรัฐธรรมนูญ แต่เราไม่ได้ประชาธิปไตย และในรัฐธรรมนูญทั้งหมดนั้น มีฉบับปี 2560 ที่ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่แย่ที่สุด ผมเป็นคณะกรรมาธิการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายคณะ รวมกับสมาชิกรัฐสภาอีกหลายท่าน มีความคิดร่วมกันว่าต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.”

“การมีรัฐธรรมนูญกับสังคมเป็นประชาธิปไตยนั้น แม้จะเป็นคนละเรื่องเดียวกัน รัฐธรรมนูญมีทั้งประเทศที่เป็นประชาธิปไตยและประเทศที่ปกครองในระบอบเผด็จการ หรือระบอบอื่น รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรที่ยาวนานที่สุดในโลกก็คือ สหรัฐอเมริกา 232 ปี ประเทศเนเธอร์แลนด์ 200 ปี ประเทศเยอรมัน 72 ปี ประเทศอิตาลี 70 ปี ถ้าดูในเอเชีย ประเทศญี่ปุ่น 70 ปี, ประเทศอินเดียที่มีรัฐธรรมนูญยาวมากที่สุดในโลก มีจำนวนคำถึง 146,385 คำ ที่ใช้มา 72 ปี หรือสาธารณรัฐประชาชนจีนรัฐธรรมนูญมีการแก้ไข 5 ครั้ง ครั้งล่าสุดเมื่อ 39 ปีที่แล้ว (ค.ศ.1982) ศึกษาได้จาก หนังสือฉบับของสถาบันพระปกเกล้ารอบโลกรัฐธรรมนูญ”

“วันนี้ ประชาชน เยาวชน นิสิต นักศึกษา ได้มาที่รัฐสภาแห่งนี้เพื่อมาแก้รัฐธรรมนูญด้วยความหวังจะได้ประชาธิปไตยเกิดขึ้นในบ้านเมืองถือเป็นความพยายามและรัฐสภาควรรับข้อเสนอประชาชนไว้พิจารณา เพราะที่มีการชุมนุมที่ใหญ่แล้วก็มีคนจำนวนมากในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรีกับพวก ที่มี นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชน เข้าร่วมกว่า 5 แสนคน ทำให้ ยุคเผด็จการทหารที่ครองอำนาจอย่างยาวนานตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2490 ได้สิ้นสุดลง และทำให้ประชาธิปไตยกลับสู่ประเทศไทยอีกครั้ง เป็นประชาธิปไตยที่แลกมาด้วยเลือดเนื้อและชีวิตของวีรชนจำนวนมาก มีผู้เสียชีวิต 77 คน บาดเจ็บ 875 คน (เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)”

“มรดกที่มีคุณค่าของเสรีชนนักต่อสู้ของวีรชนมีหลายประการที่ขอยกมาในการเสวนาคือ ‘รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2517’ เป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ 10 ที่ผมถือว่าเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ร่างขึ้นภายหลังเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 ที่นายกรัฐมนตรีลาออกลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีการเปลี่ยนแปลงก้าวหน้ามาก ได้แก่

“ห้ามมิให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญหรือสถาบันพระมหากษัตริย์”

“การยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญเป็นความผิดไม่ให้นิรโทษกรรม ที่เป็นวัฒนธรรมคนผิดลอยนวล และสำคัญอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญปี 2517 ได้วางหลักสำคัญคือคนเท่ากับคน สิทธิ เสรีภาพ เสมอภาค เท่าเทียมกัน ถือว่าเป็นประชาธิปไตยที่สุด แต่น่าเสียดายที่แต่รัฐธรรมนูญปี 2517 มีอายุเพียง 2 ปี เกิดเหตุการณ์ วันที่ 6 ตุลาคม 2519 เป็น ‘การล้อมปราบนักเรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน อย่างเมามัน’ การชวนเชื่อปลุกระดมว่านักเรียน นิสิต นักศึกษาที่คัดค้านจอมพลถนอม คือคอมมิวนิสต์ รังใหญ่คือธรรมศาสตร์ แถมมีญวน เข้ามาสมทบ มีอุโมงค์ลับ เป็นที่เก็บอาวุธ การใช้สื่อของรัฐเสี้ยม ปลุกระดมสร้างความแตกแยก ความเกลียดชังในสังคม ทหาร ตำรวจ ทุกระดับ ถูกปลูกฝังให้เกลียดคอมมิวนิสต์ และนิสิตนักศึกษาคือคอมมิวนิสต์ เติมหัวเชื้อญวนเข้าไปใน ‘ม.ธรรมศาสตร์’ คือ รังใหญ่ของศัตรูของชาติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงเป็นทุ่งสังหาร ที่ทหาร ตำรวจนำกำลังเข้าปิดล้อม ใช้อาวุธสังหาร อุโมงค์ที่เก็บอาวุธของญวนคอมมิวนิสต์ในธรรมศาสตร์ไม่มีจริง ผู้ร่วมสังหารหมู่ในธรรมศาสตร์และผู้บงการใช้ข้อมูลเท็จสร้างความแตกแยก ความเกลียดชังในสังคม ยังลอยนวลพ้นผิด”

“หากพิจารณารากเหง้าการทำลายประชาธิปไตยคือการรัฐประหาร 9 พฤศจิกายน 2490 ต่อมานายทหารที่ทำการปฏิวัติรัฐประหารได้สืบทอดอำนาจเป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันมากกว่า 20 ปี มีจอมพลแปลก พิบูลสงคราม เขารัฐประหาร เขาเป็นนายกรัฐมนตรีรวมกันราว 11 ปีเศษ มีพันเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรีเกือบ 5 ปี มีจอมพลถนอม เป็นนายกรัฐมนตรีที่มีการสังหารชุมนุมในวันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 รวมเกือบ 8 ปี”

“ประเทศไทยอยู่ในวังวนการรัฐประหารมาตลอด มีการปลุกระดมใส่ร้ายนักการเมือง และสร้างภาพว่ารัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด แต่เป็นเรื่องสูงสุดของประชาชนตัวเล็กตัวน้อยและเป็นเรื่องไร้สาระของกองทัพ และคนที่มีอาวุธ เพราะเขาอยากจะฉีกรัฐธรรมนูญเมื่อไหร่ก็ได้ มีการหลอกลวงว่าพรรคการเมืองเป็นสถาบันการเมือง ถ้าเราไปดูจริงๆเกือบ 70 ปี สถาบันการเมืองที่ใหญ่ที่สุด คือ กองทัพและระบบข้าราชการ”

“เห็นด้วยกับผู้เสนอในมาตรา 121 ให้สภาผู้แทนราษฎรแต่ตั้งมีคณะผู้ตรวจกองทัพ เพราะกองทัพ ถือเป็นสุญญากาศ แค่งบประมาณของกองทัพ เช่นงบบุคลากร กองทัพบกของบประมาณไว้กว่า 5 หมื่นล้านแต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจพบว่ามีการใช้งบบุคคลากรปีละ 6 หมื่นกว่าล้าน หรืองบทั้งหมดประมาณ 1 แสนกว่าล้าน แต่ปรากฏว่าเมื่อ สตง. ไปตรวจเงินของกองทัพ มีงบประมาณ 170,000 ล้าน ที่มีความเคลือบแคลงว่าเงินเพิ่มจากไหน หรือกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ที่นายกรัฐมนตรีเป็น ผู้อำนวยการ และผู้บัญชาการทหารบกเป็นเลขา กอ.รมน.พบงบการเงินที่ สตง.ตรวจประมาณปี 2561-2563 นำงบไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายอื่น เมื่อ สตง.ไปตรวจแล้วพบว่านำงบรายจ่ายอื่นประมาณ 6 ล้านบาทต่อปี นำไปเป็นงบราชการลับและเป็นงบความมั่นคง แต่ในการของบประมาณปกปิด ไม่บอกว่านำไปใช้เป็นเงินราชการลับ งบกองทัพไม่สามารถตรวจสอบได้ นี่คือสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเราจำเป็นต้องตรวจสอบกองทัพ ยิ่งในภาวะวิกฤตโควิด-19 ประชาชนคือนักรบที่จะต้องผจญกับกองทัพของโควิด-19 แต่กองทัพกลับใช้งบประมาณมากมาย ผมต้องการให้กองทัพเป็นทหารอาชีพเพื่อมาทำหน้าที่ปกครองป้องกันประเทศ ดังนั้นในข้อเสนอของกรรมาธิการจึงเห็นว่าในมาตรา 121 ที่ให้มีคณะกรรมการตรวจสอบงบประมาณของกองทัพจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น”

“นอกจากนี้ในการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญมีความเห็นด้วยการแก้ไขในหมวดศาลรัฐธรรมนูญ ทั้งที่มาของตุลาการ โครงสร้างและมีอำนาจมากเกินรัฐธรรมนูญ และยังขยายอำนาจแม้ไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 60 โดยเฉพาะการยุบพรรคการเมืองและการตัดสิทธิ์สมาชิกที่เป็นหัวหน้าพรรคและผู้บริหาร ทั้งที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้เขียนให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญไว้เลย ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2550 ยังเขียนว่าสามารถยุบพรรคการเมืองได้และสามารถตัดสิทธิ์สมาชิกพรรคการเมืองได้ แต่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจตาม พรบ พรรคการเมือง ทำการยุบพรรคและตัดสิทธิ์กรรมการบริหาร ทั้งที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ เห็นด้วยที่ศาลรัฐธรรมนูญให้ดูแค่กฏหมายขัดกันหรือองค์กรขัดกันเท่านั้น ผมคิดว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรจะอยู่เหนือรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ควรทำตัวเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ขัดขวางกระบวนการประชาธิปไตย ความจริงแล้วในอดีตที่ผ่านมาคนที่จะตีความรัฐธรรมนูญต้องเป็นรัฐสภาเพราะเป็นผู้ออกกฏหมาย จะรู้เจตนารมณ์ของกฎหมายดี”

“เห็นด้วยที่ควรยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและแผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งคณะกรรมการศึกษาการแก้รัฐธรรมนูญหลายท่านเห็นด้วยควรยกเลิก เพราะยิ่งมียุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ ยิ่งเป็นการรวบอำนาจสนับสนุนทุนนิยมไม่กระจายอำนาจทำให้ยิ่งมีความยากจน มีความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งใช้ยุทธศาสตร์ชาติและปฏิรูปประเทศอาจเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์ในเชิงคอรัปชั่น เชิงนโยบาย ทำให้ประชาชนมีความยากไร้ยิ่งขึ้น เราดูจากความยากจนยิ่งมากขึ้น จึงขอสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่เสนอโดยภาคประชาชน และเห็นด้วยที่ควรจะรับไว้พิจารณาในวาระ 1 จะทำให้บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น”

มูฮัมหมัดรุสดี เชคฮารูณ
รองโฆษกพรรคประชาชาติ

การเมือง