ผู้ป่วยยาเสพติดเข้าบำบัดที่ศูนย์พักคอย CI อำเภอกระนวน จัดกิจกรรมจิตอาสาช่วยเหลือพระสงฆ์ พัฒนาความสะอาดวัด เกื้อหนุนให้ผู้ป่วยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2567 นายคเณศวร เกษอินทร์ นายอำเภอกระนวน ได้รับรายงานการจัดกิจกรรมประจำวัน โดยผู้เสพ/ผู้ป่วยยาเสพติด ที่เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ที่ศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด (Community Isolation : CI) อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ได้เข้าช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์ ทำความสะอาดบริเวณรอบวัดศรีสว่าง เป็นการขับเคลื่อนดำเนินตามนโยบายของกระทรวงมหาดไทย ที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติดด้วยมาตรการเชิงรุก ทั้งการป้องกันและปราบปราม ตลอดจนมาตรการเข้มข้นและจริงจังในการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยให้ทุกอำเภอ จัดตั้งศูนย์พักคอยผู้ป่วยยาเสพติด Community Isolation : CI ใช้สถานที่ชุมชนเป็นฐานปฏิบัติการบำบัดฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติดที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาและให้นายอำเภอทุกอำเภอใช้กองร้อยอาสารักษาดินแดน (อส.) และพื้นที่ภายในอำเภอ เป็นศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้เสพที่ผ่านการบำบัดจากโรงพยาบาลจิตเวช มาอยู่ที่กองร้อยอาสารักษาดินแดน เพื่อฟื้นฟู ฝึกอาชีพ เรียนรู้ตามศาสตร์พระราชา โดยไม่ใช้งบประมาณจากทางราชการ ด้วยแนวคิด “เอาชนะทางความคิด ให้โอกาส ให้ที่ยืน และให้อาชีพ” ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อทำให้ผู้เสพ/ผู้ป่วยยาเสพติด และผู้ป่วยจิตเวชสามารถดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผู้คนในชุมชนได้อย่างเป็นปกติสุข
นอกจากนี้ นายอำเภอกระนวนได้มอบหมายให้ สาธารณสุขอำเภอ เข้าประเมิน ติดตามดูแลด้านสุขภาพ ระบบการบำบัดฟื้นฟูตามมาตรการบำบัดรักษาประจำวัน ทั้งสภาพร่างกาย และจิตใจของผู้บำบัดฟื้นฟูการสังเกตอาการของผู้บำบัดฟื้นฟู และสิ่งแวดล้อม
รวมทั้ง ชุดปฏิบัติการพิเศษอำเภอกระนวน ได้เร่งประสานงานกับผู้นำชุมชน เพื่อสร้างการรับรู้และเข้าพบพูดคุยกับครอบครัวของผู้เสพ/ผู้ป่วยยาเสพติด เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา และเตรียมความพร้อมผู้ป่วยและญาติ/ผู้ดูแล เพื่อแยกผู้ป่วยยาเสพติดที่มีพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดความเดือดร้อนในชุมชนออกมาพักคอยจนกว่าจะมีความพร้อมกลับคืนสู่ชุมชน เพื่อลดอันตรายและความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นจากผู้ป่วยยาเสพติด ตามแนวทางของผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น ด้วยแนวคิด “เอาชนะทางความคิด ให้โอกาส ให้ที่ยืน และให้อาชีพ” เพื่อให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือผู้ป่วยยาเสพติดที่ผ่านการบำบัดจากสถานพยาบาล หรือผู้ป่วยที่ยังไม่หายขาดจากยาเสพติดที่อยู่ในหมู่บ้าน/ชุมชน มาเข้ารับการบำบัดที่กองร้อย อส.จังหวัด/กองร้อย อส.อำเภอ โดยการดูแลของนายอำเภอ/พนักงานฝ่ายปกครอง อย่างต่อเนื่อง
ทีมข่าวเฉพราะกิจจังหวัดขอนแก่น