ส.ส.แคมป์” ร้องขอสธ.จัดหาบุคลากรฯ ตรวจเชื้อโควิดแรงงานต่างด้าวในจ.ราชบุรี
“กุลวลี”ขอ สธ.ส่งบุคลากรทางการแพทย์ จากพื้นที่เสี่ยงต่ำ ช่วยพื้นที่เสี่ยงสูงรอบสมุทรสาคร รวม จ.ราชบุรี หลังปชช.วิตกกังวลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 พร้อมแนะ 3 หน่วยงานจัดทำแผนใช้เหลือเกษตรกรทำนาปรัง
น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ หารือในที่ประชุมสภาฯ เกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 จากกลุ่มผู้ใช้แรงงานต่างด้าวใน จ.สมุทรสาคร ทำให้พื้นที่จังหวัดข้างเคียงตอนนี้ เริ่มมียอดผู้ติดเชื้อปรากฏ ไม่ว่าจะเป็น จ.สมุทรสงคราม, จ.นครปฐม, จ.เพชรบุรี, และจังหวัดที่อยู่รอบๆ จ.สมุทรสาคร ได้ช่วยกันระดมจัดหาบุคลากรไปช่วยในการตรวจเชื้อโควิดของกลุ่มแรงงานต่างด้าว แม้เวลานี้ จ.ราชบุรี ยังไม่มีผู้ติดเชื้อจากเหตุการณ์นี้ แต่ประชาชนก็เกิดความกังวลใจมาก ว่าจะมีแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้ามาในพื้นที่หรือไม่ หรือแรงงานต่างด้าวที่เป็นโควิด-19 ก่อนหน้านี้มีการไปมาหาสู่กับคนในพื้นที่ราชบุรีหรือเปล่า และจะมีการตรวจเชิงรุกกับกลุ่มแรงงานต่างด้าวในจังหวัดราชบุรีบ้างไหม เพราะบางหมู่บ้านในเขต อ.เมืองก็มีแรงงานต่างด้าวอาศัยกันอย่างหนาแน่น ปะปนอยู่กับคนไทย คำถามเหล่านี้ส่วนราชการในจังหวัดต้องตอบคำถามและทำความเข้าใจกับพี่น้องประชาชนเพื่อลดความวิตกกังวล
“ดังนั้นขอหารือไปยังกระทรวงสาธารณสุข ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะขอกำลังสนับสนุนของบุคลากรทางการแพทย์จากทางภูมิภาคอื่นที่มีความเสี่ยงต่ำ มาช่วยพื้นที่จุดเสี่ยงนี้ เนื่องจาก จ.ราชบุรี ซึ่งอยู่ติดกับ จ.สมุทรสาคร ก็ต้องเฝ้าระวังตัวเองเช่นกัน เปรียบเสมือนพม่าจะตีเมืองตัวเองอยู่แล้ว แต่กำลังพลถูกดึงไปรบที่อื่น รวมถึงบุคลากรทางการแพทย์เมื่อกลับมาจากสมุทรสาครก็ต้องโดนกักตัวอีก 14 วัน สุขภาพกายใจอ่อนล้า อีกทั้งขอเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขช่วยจัดหาอุปกรณ์ น้ำยาในการตรวจให้เพียงพอต่อความต้องการด้วย” น.ส.กุลวลี …กล่าว
น.ส.กุลวลี ยังหารือถึงปัญหาปากท้องชาวนา สืบเนื่องจากมีมติครม.ขอความร่วมมือพี่น้องชาวนาในลุ่มน้ำแม่กลอง งดทำนาปรัง เนื่องจากฤดูแล้งนี้ปริมาณน้ำค่อนข้างน้อย โดยในห้วง 2-3 อาทิตย์ที่ผ่านมา โดยได้รับเรื่องร้องเรียนจากพี่น้องชาวนา ต.คูบัว, ต.เกาะพลับพลา, ต.เขาแร้ง, ต,เจดีย์หัก อ.เมือง ราชบุรี ถึงความร้อนใจว่าถ้าไม่ได้ทำนาปรัง จะเอาเงินที่ไหนจ่ายหนี้ ธกส. เมื่อรายได้หลักของครอบครัวมาจากการทำนา จึงขอฝากให้กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ช่วยหาแนวทางในการช่วยเหลือพี่น้องชาวนา เช่น จัดทำแผนในการเปิดปิดน้ำ และให้หน่วยงานในสังกัดของกรมชลฯ ลงพื้นที่พูดคุยหาแนวทางร่วมกันกับกลุ่มผู้ใช้น้ำและพี่น้องชาวนา รวมถึงลงพื้นที่สำรวจแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นแหล่งน้ำสำรองและจัดหาเครื่องมือสนับสนุน เช่น เครื่องสูบน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมด้วย
////////////////////////////////////////////////////
สุจินต์ นฤภัย(เต้) จ.ราชบุรี